ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์
งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ เป็นงานประเพณีเก่าแก่ของ ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่สืบทอด กันมายาวนานชั่วอายุคน เป็นประเพณี ที่แปลกไม่มีปรากฎในที่อื่น ๆ ในวันสารทไทยของทุกปี ชาวเพชรบูรณ์จะเดินทาง ไปร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง
งานประเพณีดังกล่าวนี้ ทุกปีจะจัดที่บริเวณวัดไตรภูมิ ถนนเพชรรัตน์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ พระพุทธรูปองค์นี้ ที่อัญเชิญไปดำน้ำ มีนามว่า พระพุทธมหา ธรรมราชา เป็นพระพุทธรูป คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ ปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี หล่อด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตัก กว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน พุทธลักษณะ เป็นทรงเทริด พระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน พระกรรณยาวย้อย จนจรดพระอังสา ที่พระเศียร ทรงเครื่องชฎาเทริด มีกระบังหน้า ทรงสร้อยพระศอ พาหุรัดและ ประคตเป็นลวดลายงดงามยิ่ง
ตามประวัติเล่าสืบกันต่อมาหลายชั่วอายุคนแล้ว เมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมา มีชาวเพชรบูรณ์ กลุ่มหนึ่งมีอาชีพ ในการจับสัตว์น้ำ อยู่ในลำน้ำป่าสัก อยู่มาวันหนึ่งชาวประมงกลุ่มนี้ได้ออกหาปลาตามปกติ เช่นทุกวัน เผอิญวันนั้นเกิดเหตุการณ์ประหลาดตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ไม่มีใครจับปลา ได้เลยสักตัวคล้ายดังกับว่าใต้พื้นน้ำ ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เลย สร้างความงุนงงแก่พวกเขาเป็นอย่างมาก ต่างพากันนั่ง ปรึกษาว่าจะทำประการใดดี
บริเวณที่ชายเหล่านั้นนั่งปรึกษากันอยู่นั้น ปัจจุบันคือ บริเวณ วังมะขาม แฟบ คำว่า มะขามแฟบ นั้น หมายถึง ไม้ระกำนั่นเอง บริเวณดังกล่าว อยู่ทางทิศเหนือของ เมืองเพชรบูรณ์ ทันใดนั้น กระแสน้ำ ในแม่น้ำแห่งนั้น หยุดไหลนิ่งอยู่กับที่ แล้วค่อย ๆ มีพราย น้ำผุดขึ้นมาที ละฟอง ทวีมากขึ้น มองดูคล้ายกันน้ำกำลังเดือดอยู่บนเตาไฟ ไม่นานก็เปลี่ยนเป็นวังน้ำวนใหญ่และลึกมาก ณ ที่แห่งนั้นทุกคน ต่างมองดูด้วยความมึนงง ไม่สามารถหาคำตอบว่าเกิดขึ้นจากอะไร
เหตุการณ์ ดำเนินต่อไป จนกระทั่ง กระแสวังวนแห่งนั้น ได้เริ่มคืนสู่สภาพเดิม และดูดเอา พระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมา จากใต้พื้นน้ำแห่งนั้น ลอยขึ้นมาอยู่ เหนือผิวนั้น มีการดำผุดดำว่ายอยู่ตลอดเวลา เหมือนอาการของ เด็กเล็ก ที่กำลังเล่นน้ำ เป็นที่แน่นอนว่าชาวประมง กลุ่มนั้นได้ประจักษ์ ถึงความ ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ลงไปอัญเชิญ ขึ้นมาประดิษฐาน บนบกให้ผู้คนทั้งหลาย ได้กราบไหว้สักการะบูชา และพร้อมใจกันอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ วัดไตรภูมิ ในปัจจุบัน
ในปีต่อมา ครั้นถึงเทศกาลสารทไทย พระพุทธรูปที่ถูกอัญเชิญขึ้นมา จากน้ำได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านชาวเมือง ก็ออกตามหากันจ้าละหวั่น ในที่สุดก็ไปพบพระพุทธรูปองค์ นี้ตรงบริเวณที่พบครั้งแรกและกำลังดำผุดดำว่ายอยู่พอดี จึงได้อัญเชิญ มาอีกครั้งหนึ่ง
นับตั้งแต่บัดนั้นมา เมื่อถึงเทศกาลสารทไทย คือ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบของทุกปีภายหลังจาก ถวายภัตตาหารเช้า แด่พระภิกษุสงฆ์แล้ว เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ สมัยนั้นพร้อมด้วยข้าราชการ ตลอดจนประชาชนในเมืองเพชรบูรณ์ จึงร่วมกันอัญเชิญ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ ได้ทำพิธีสรงน้ำ ที่วังมะขามแฟบ ตรงที่พบครั้งแรกเป็นประจำทุกปี หากปีใดน้ำน้อยเข้าไป ไม่ได้ก็อัญเชิญไปสรงน้ำที่วัดโบสถ์ชนะมาร ทางเหนือเมืองเพชรบูรณ์ แล้วถวายนามท่านว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา”
ในวันสารทไทยของทุกปี ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อัญเชิญ พระพุทธมหาธรรมราชา ประดิษฐานบนบุษบก แห่จาก วัดไตรภูมิไปตาม เส้นทางในเขตเทศบาล เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา และอัญเชิญ มาเฉลิมฉลองที่วัดไตรภูมิ ในวันสารทไทย ซึ่งเป็น วันที่สามของงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะอัญเชิญ พระพุทธมหา ธรรมราชาประดิษฐาน บนเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดไตรภูมิ ทวน กระแสน้ำ ในแม่น้ำป่าสัก ไปทำพิธีดำน้ำ ที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ซึ่งเป็นวังน้ำลึก เมื่อถึงบริเวณพิธี ผู้ว่าราชการ จังหวัดเพชรบูรณ์ จะอัญเชิญ พระพุทธมหาธรรมราชา เทิดไว้เหนือ หัวดำน้ำลง ไปพร้อมกัน โดยหันหน้าไปทางเหนือสามครั้ง หันหน้าลง ทางใต้สามครั้ง ตามความเชื่อที่ว่า จะทำให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข
ความเชื่อในการอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาดำน้ำ ผู้ที่ทำการอัญเชิญจะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ ตำแหน่งเทียบ ได้กับเจ้าเมืองในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นใหญ่ที่สุดในเมือง ความเสียสละของผู้เป็นใหญ่ ในนครที่มีความห่วงใย ในความทุกข์สุข ของราษฎรและได้ชื่อว่า เป็นผู้ทะนุบำรุงพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ จะให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ เจ้าเมืองอัญเชิญไปดำน้ำแทนไม่ได้ หากปีใดไม่มีการอัญเชิญ พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวไปดำน้ำ ชาวเพชรบูรณ์ เชื่อกันว่าปีนั้นบ้านเมือง จะเกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง และพระพุทธรูปองค์นี้จะหายไป
งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก จะเป็นประเพณีที่สืบทอด กันไว้เป็นมรดก ให้ลูกหลานได้ชื่นชม อีกตราบนานเท่านาน
ขอบพระคุณข้อมูลดีๆจาก tourphetchabun.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น